โรคแคงเกอร์ในมะนาว

โรคแคงเกอร์ที่ใบมะนาว

โรคแคงเกอร์ในมะนาวเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris pv. citri เป็นโรคระบาดที่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับพืชจำพวกตระกูลส้ม รวมถึงมะนาวด้วย ถ้าการดูแลและการป้องกันการเกิดโรคแคงเกอร์ไม่ดี จะเกิดการระบาดทั่วทั้งสวนมะนาว

ลักษณะอาการของโรคแคงเกอร์ในมะนาว
ลักษณะอาการของต้นมะนาวเมื่อได้รับเชื้อแคงเกอร์ในระยะเริ่มต้น จะแสดงอาการออกทางใบ โดยใบมะนาวจะเกิดแผลจุดวงกลมเล็กๆ มีสีเหลืองในระยะเริ่มต้น และแผลจะขยายใหญ่ขึ้น ฟูคล้ายฟองน้ำจนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและจะแตกเป็นสะเก็ด

ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมโรคแคงเกอร์จะลามไปตามกิ่งก้านของใบ และลำต้นมะนาวจนเกิดเป็นแผลลามรอบๆ กิ่งและลำต้น รวมทั้งลูกมะนาวด้วยทำให้ลูกมะนาวไม่โต ปริและแตกสร้างความเสียหาย ถ้าโรคแคงเกอร์เข้าทำลายต้นมะนาวหนักเข้า ผลผลิตก็จะต่ำลงและต้นมะนาวจะโทรม แคระแกร็น และแห้งตายในที่สุด

 โรคแคงเกอร์ที่ลูกมะนาว

ช่วงที่พบการเกิดโรคมากที่สุดคือช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนไปถึงเดือนตุลาคม ในช่วงนี้ต้องระวังป้องกันหนอนชอนใบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การเกิดโรคและการระบาดของโรคแคงเกอร์มากยิ่งขึ้น เพราะหนอนชอนใบที่เกาะอยู่บนใบมะนาวจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้เกิดบาดแผล เป็นสาเหตุทำให้มะนาวเกิดการติดเชื้อโรคแคงเกอร์ได้ง่าย

การป้องกันและกำจัดโรคแคงเกอร์ในมะนาว
1) เลือกกิ่งพันธุ์มะนาวที่ปลอดโรคแคงเกอร์ และไม่ขยายพันธุ์มะนาวจากต้นแม่พันธุ์ที่เป็นโรคแคงเกอร์

2) หมั่นคอยดูแลรักษาต้นมะนาวไม่ให้หนอนชอนใบเข้าทำลายใบอ่อน ด้วยการฉีดพ่นสารเคมีจำพวกอะบาแม็กติน หรือน้ำหมักสมุนไพรทางชีวภาพ เพื่อป้องกันแมลงเข้ามาวางไข่และหนอนชอนใบ

3) ถ้าพบโรคแคงเกอร์เข้าทำลายมะนาว ให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ในอัตราส่วน 15 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 10 วันอย่างสม่ำเสมอ หรือสามารถใช้เชือแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทิลิสที่เป็นเชื้อแบคทีเรียชั้นสูงกว่าฉีดพ่นเพื่อเข้าทำลายเชื้อแบคทีเรียของโรคแคงเกอร์ได้

4) หมั่นคอยตัดแต่งกิ่งมะนาวให้โปร่งอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการสะสมของโรคของมะนาว กิ่งที่เป็นโรคแคงเกอร์ให้ตัดออกแล้วนำไปเผาไฟเพื่อทำลายและป้องกันการระบาดของโรค

5) หลีกเลี่ยงการรดน้ำมะนาวตอนเย็น ควรรดน้ำมะนาวตอนเช้าแทน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคแคงเกอร์ไม่ให้เพิ่มมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น